งานนิพนธ์ ของ หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร

หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดมนิพนธ์นวนิยายเรื่องแรกเมื่อปี พ.ศ. 2478 ขณะชันษาได้ 24 ปี โดยใช้นามปากกาว่า "ดวงดาว" โดยทรงให้เหตุผลว่าโปรดที่จะทอดเนตรดวงดาวในยามค่ำคืน เพราะดูแล้วน่ารักดี แต่เมื่อทรงส่งเรื่อง "คำอธิษฐานของดวงดาว" ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจวันอาทิตย์ นามปากกาได้กลายเป็น "บังใบ" ซึ่งมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ตั้งถวายโดยความเข้าใจผิด ชื่งต่อมาในภายหลังทรงเปลี่ยนมาใช้นามปากกา "ดวงดาว" ตลอดมา และมีผลงานติดต่อมาหลายเรื่อง เช่น นวนิยายเรื่อง "ผยอง", "เชลยศักดิ์" และ "เคหาสน์สีแดง"

หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดมมีจริยวัตรรักสวยรักงาม และมีอารมณ์ขัน โปรดการประพาสต่างจังหวัด เสด็จไปในที่ที่ไม่เจริญ เพื่อทอดเนตรความเป็นอยู่ของชาวบ้าน นำมาเป็นข้อมูลในงานนิพนธ์ เรื่องสั้นต่าง ๆ โดยมีหม่อมราชวงศ์วงศ์ศิริ กฤดากร เป็นพระสหายสนิทที่โปรดที่สุด

หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดมทรงหยุดนิพนธ์นวนิยายในปี พ.ศ. 2508 เพราะไม่ทรงเห็นด้วยกับนิตยสารบางเล่ม ที่ให้ผู้อ่านทายชื่อนักประพันธ์ในนิยายที่ไม่ลงชื่อผู้แต่ง[6] แต่ยังนิพนธ์เรื่องสั้นบ้าง เรื่องสุดท้ายที่นิพนธ์ คือ เรื่อง "อดีตที่รัก" ซึ่งเป็นพระประวัติเมื่อครั้งทรงเยาว์ พิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมหลวงเหมือนจันทร์ ประวิตร (พี่สะใภ้) ซึ่งนิพนธ์ในปี พ.ศ. 2529

หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดมทรงได้รับการประกาศเกียรติคุณจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้รับรางวัลนราธิปครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2544[7]

หม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร ถึงชีพิตักษัยด้วยพระอาการเส้นโลหิตในสมองตีบ เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2544 ณ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สิริชันษา 90 ปี

ภายหลังจากสิ้นชีพิตักษัย กระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติหม่อมเจ้าสวาสดิ์วัฒโนดม ประวิตร (ดวงดาว) เป็น "บูรพศิลปิน" เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2559[8]